0

ตระกร้าสินค้า

Item removed. Undo

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
 
                คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารของบริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งถือหลักในการสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเสริมสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ จึงดำเนินกิจการตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งเน้นให้บุคลากรทุกระดับของบริษัทฯ สามารถนำแนวทางไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละกิจการของบริษัทฯ จึงเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จสูงสุดในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากสังคมและสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทฯ  
 
​หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น  
           คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตนในเรื่องต่าง ๆ ที่สมควรได้รับ โดยกำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ และให้สิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ คณะกรรมการบริษัทยังได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น ดังนี้
1.   การประชุมผู้ถือหุ้น
                 1.1  บริษัทฯ กำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปีละ 1 ครั้งภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดของรอบบัญชีของบริษัทฯ และจัดการประชุมผู้ถือหุ้นที่สนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นได้สิทธิเท่าเทียมกันทุกราย คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นโดยการส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการจะได้มีโอกาสรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัทฯ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหาร บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
                 1.2   บริษัทฯ ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีระยะเวลาในการพิจารณาเกี่ยวกับวาระการประชุม โดยหนังสือเชิญประชุมได้ระบุรายละเอียดวาระการประชุมพร้อมความเห็นของคณะกรรมการบริษัท รายละเอียดของเรื่องเพื่อพิจารณาทั้งนี้ แต่ละเรื่องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา โดยมีวัตถุประสงค์และเหตุผลของแต่ละวาระ และจัดส่งหนังสือมอบฉันทะ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกที่จะมอบฉันทะให้เข้าประชุมแทนได้ รวมทั้งส่งแผนที่แสดงสถานที่ประชุมแก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้า 14 วันก่อนการประชุม พร้อมทั้งได้โฆษณาบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน และก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า 
2.   การดำเนินการในวันประชุมผู้ถือหุ้น
                 2.1 คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อการประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้นกรรมการบริษัททั้งคณะ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการชุดย่อยจะเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยประธานกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จะเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็น และตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น
                 2.2 ในระหว่างการประชุม ประธานที่ประชุมทำหน้าที่ดำเนินการประชุมไปตามลำดับที่แจ้งไว้ในระเบียบวาระการประชุม โดยเมื่อมีการให้ข้อมูลตามระเบียบวาระแล้ว ประธานที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกรายแสดงความเห็น ข้อเสนอแนะ ถามคำถามในแต่ละวาระ และให้เวลาอภิปรายอย่างเหมาะสมเพียงพอ จากนั้น ฝ่ายบริหารจะตอบข้อซักถามอย่างชัดเจน ตรงประเด็น และให้ความสำคัญกับทุกคำถาม
                 2.3 บริษัทฯ จะชี้แจงวิธีการลงคะแนน และวิธีการนับคะแนนก่อนการประชุม ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนบริษัทฯ จะนับ 1 หุ้น เป็น 1 เสียง และถือเสียงข้างมากเป็นมติ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดอีกเสียงหนึ่งต่างหาก
3.   การจัดทำรายงานการประชุม และการเปิดเผยมติการประชุมผู้ถือหุ้น
                 3.1 การจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้มีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยบันทึกสาระสำคัญของแต่ละเรื่องที่เสนอต่อที่ประชุม สรุปประเด็นสำคัญของข้อซักถามของผู้ถือหุ้นและคำชี้แจงของคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหาร ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมของที่ประชุม รวมทั้งมติที่ประชุมพร้อมคะแนนเสียงแต่ละประเภทและสัดส่วนคะแนนเสียงของแต่ละเรื่องไว้อย่างชัดเจนและครบถ้วน พร้อมทั้งบันทึกรายชื่อกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมและกรรมการที่ลาประชุม
                 3.2 ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้จัดทำรายงานการประชุมให้แล้วเสร็จ โดยแสดงข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยบริษัทฯ ได้นำส่งรายงานการประชุมที่จัดทำแล้วเสร็จลงนามรับรองโดยประธานที่ประชุมส่งให้ นายทะเบียน (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เพื่อเป็นเอกสารตรวจสอบและอ้างอิง   
 
หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน  
           คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายในการทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการให้บริษัทฯ มีการปฏิบัติและปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการขัดแย้งของผลประโยชน์หรือการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ถือหุ้น โดยไม่เลือกว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รายย่อย ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยหรือสัญชาติต่างด้าว ให้ได้รับการปฏิบัติและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้แก่สิทธิในการได้รับสารสนเทศที่เพียงพอ ทันเวลา ทันเหตุการณ์ และในรูปแบบที่เหมาะสมต่อการตัดสินใจ สิทธิในการได้รับใบหุ้นและสิทธิในการโอนหุ้น โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
1. การให้ข้อมูลก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
               1.1 บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลสำคัญให้ผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะเริ่มดำเนินการประชุม ได้แก่ การแนะนำกรรมการ ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุม แจ้งจำนวน สัดส่วนผู้ถือหุ้น และผู้รับมอบฉันทะที่เข้าร่วมประชุม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการประชุม และขั้นตอนการออกเสียงลงมติ
               1.2 การดำเนินการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับบริษัทฯ ตามลำดับวาระการประชุม มีการเสนอรายละเอียดในแต่ละวาระครบถ้วน มีการแสดงข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน โดยไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือนัดประชุม หรือแจกเอกสารเพิ่มเติมในที่ประชุม ซึ่งจะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นที่ไม่สามาระเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้
               1.3 กรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะบุคคล   ใด ๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่บริษัทได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม
2. การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน 
               2.1 บริษัทฯ มีนโยบายในการควบคุมดูแล เพื่อป้องกันกรรมการและผู้บริหารนำข้อมูลภายในของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยกำหนดนโยบายห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ใช้ข้อมูลภายในซึ่งยังมิได้ทำการเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณชน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ได้รับทราบและปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
               2.2 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติหลักการในการเข้าทำธุรกรรมระหว่างบริษัท กับกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของบริษัท สำหรับธุรกรรมที่เป็นธุรกิจปกติ หรือสนับสนุนธุรกิจปกติ ซึ่งมีเงื่อนไขการค้าทั่วไป โดยมีราคาและเงื่อนไขถือปฏิบัติเช่นเดียวกับรายการที่ทำกับบุคคลภายนอก 
3. การมีส่วนได้เสียของกรรมการ
               3.1 คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลรายการการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้บริษัทฯ ทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารว่าเป็นไปตามหลักการที่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และซื่อสัตย์ (Fiduciary duties) ไม่มีรายการซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจนำไปสู่การถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทฯ
               3.2 กรรมการและผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่ทำกับบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ จะไม่มีส่วนร่วมในการประชุมพิจารณาในวาระดังกล่าว
 
หมวดที่ 3 การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 
           คณะกรรมการบริษัท ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่มีตามกฎหมาย หรือข้อตกลงที่มีกับบริษัทฯ เพื่อให้สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดี ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงทางการเงิน ความแข็งแกร่งของกิจการ การรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการดูแลและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ ตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งทางธุรกิจ พนักงาน และสังคม รวมถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายและจัดทำประกาศหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยึดหลักการสำคัญ ดังต่อไปนี้
ผู้ถือหุ้น
           บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งมั่นเป็นตัวแทนที่ดีของผู้ถือหุ้นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตของมูลค่าบริษัทในระยะยาว รวมทั้งการดำเนินการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเชื่อถือได้ 
พนักงาน
           บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญถึงคุณค่าทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีสภาพการจ้างงานที่ยุติธรรม มีโอกาสก้าวหน้าในบริษัทฯ อย่างเป็นธรรม บริษัทฯ จะปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนโดยเสมอภาคกันโดยไม่แบ่งแยกในเรื่องเชื้อชาติ เพศ สีผิว ศาสนา ชาติกำเนิด อายุ รสนิยมทางเพศ ความพิการทางร่างกาย หรือลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และจะดูแลไม่ให้เกิดการคุกคามหรือข่มขู่ต่อบุคลากรทุกระดับ ไม่ว่าจากบุคคลใด ๆหรือโดยวิธีใด ๆ โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญที่เกี่ยวกับพนักงาน ได้แก่ การจ้างงาน ค่าจ้างและค่าตอบแทน และสวัสดิการของพนักงาน เพื่อให้ค่าตอบแทนของพนักงานสอดคล้องกับการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ อีกทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีการทำงานเป็นทีม และบริษัทฯ ได้จัดให้มีสถานที่การทำงานที่ปลอดภัย และถูกสุขอนามัยในการทำงาน
คู่แข่ง
           บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับคู่แข่งทางธุรกิจ โดยไม่ได้มองว่าเป็นเพียงคู่แข่งทางธุรกิจด้านเดียว แต่บริษัทฯ มองว่าด้วยสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ คู่แข่งทางธุรกิจยังสามารถผันตัวมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญในอนาคต โดยสอดคล้องกับหลักสากลภายใต้กรอบแห่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักปฏิบัติการแข่งขันทางการค้าไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่ค้าด้วยวิธีฉ้อฉล โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
• ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี 
• ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม
• ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย
ลูกค้า
           บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองและให้บริการที่ดี เพื่อสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า บริษัทฯ มีนโยบายในการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน โดยรักษาความลับของลูกค้า และจัดให้มีระบบในการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า
เจ้าหนี้
           บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักการและมีวินัย เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้ และให้ความสำคัญกับบรรดาเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ธุรกิจของบริษัทฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย โดยบริษัทฯ เข้มงวดในการชำระหนี้ค่าบริการ และ/หรือค่าสินค้าที่ได้ซื้อจากเจ้าหนี้ การชำระคืนหนี้ เงินกู้ยืม ดอกเบี้ย การบริหารเงินทุน ตามกำหนดเวลาทุกราย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นเจ้าหนี้ทางการค้ารายใหญ่หรือรายเล็ก
องค์กรกำกับดูแลและหน่วยงานรัฐ 
           บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ข้อกำหนด และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดโดยองค์กรที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น
สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
           บริษัทฯ คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยส่งเสริมให้พนักงานใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ร่วมพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างสรรค์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
           ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะเปิดเผยถึงการปฏิบัติไว้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันเพื่อให้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียได้รับการดูแลอย่างดี รวมถึงเรื่องดังต่อไปนี้
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์
           บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และถือเป็นนโยบายหลักของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ไม่ส่งเสริม สนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการใช้ซอฟต์แวร์ใด ๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติให้พนักงานทุกคนรับทราบนโยบายขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ห้ามพนักงานกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และ/หรือกระทำการอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์
 
การติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติ
           สำหรับผู้บริหารและพนักงาน บริษัทฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่จะต้องทราบ และปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ อีกทั้งผู้บริหารทุกระดับจะต้องดูแลรับผิดชอบและถือเป็นเรื่องสำคัญในการส่งเสริมให้พนักงานภายใต้การบังคับบัญชามีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด 
           บริษัทฯ จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือขัดกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการ หากผู้บริหาร หรือพนักงานกระทำผิดตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ จะได้รับโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด และหากมีการกระทำที่เชื่อถือได้ว่าทำผิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบ และข้อบังคับของภาครัฐ บริษัทจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐดำเนินการต่อไป 
การแจ้งแบะแสหรือข้อร้องเรียน
           เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันและมีความเป็นธรรม ตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ ได้จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะใดที่แสดงว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ  หรือจากการปฏิบัติของพนักงานของบริษัทฯ  เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณ รวมถึงพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน การทุจริตคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิหรือการกระทำที่ขาดความระมัดระวังและขาดความรอบคอบ 
ช่องทางการรับแจ้ง
1. หน้าเว็บไซต์ของบริษัท (http://www.airaleasing.co.th/whistleblower)
2. ส่งจดหมายถึงผู้รับข้อร้องเรียน ที่ คณะกรรมการตรวจสอบ สำนักตรวจสอบภายใน       
ดังตัวอย่าง 
     เรียน คณะกรรมการตรวจสอบ 
     บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
     เลขที่ 188 อาคารสปริง ทาวเวอร์ ชั้นที่ 21
     ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
3. E-mail : [email protected] 
 
การดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง

           บริษัทฯ มีนโยบายการรับข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือการทุจริต สำหรับเป็นแนวทางในการรับข้อร้องเรียน สืบสวนข้อเท็จจริง และพิจารณาบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ บริษัทฯ เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถแจ้งร้องเรียน หากพบเห็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองตามนโยบายการให้การคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลตามที่บริษัทฯ กำหนด
มาตราการการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส
           บริษัทฯ มีมาตรการการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
           1. บริษัทฯ จะคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสข้อมูลอย่างเต็มความสามารถ จะไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ให้ข้อมูลได้ และเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับโดยจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลให้เฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องที่ร้องเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
           2. บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น โดยจะคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล แหล่งข้อมูล และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ
           3. ผู้ร้องเรียน ผู้ที่แจ้งข้อมูล แหล่งข้อมูล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิได้รับการชดเชย การบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการคุ้มครองที่เหมาะสมและเป็นธรรม 
           4. ผู้ได้รับข้อมูลเรื่องร้องเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการสืบหาข้อเท็จจริง มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล รายละเอียดข้อร้องเรียน รวมทั้งเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่ทางกฎหมายกำหนด
บทลงโทษ
           ภายหลังการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่าผู้ถูกร้องเรียนมีการประพฤติผิดนโยบายการกำกับดูแลกิจการจริงตามที่ถูกกล่าวหา จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามที่กำหนดภายใต้ระเบียบบริหารงานบุคคลของบริษัทฯ โดยคำพิจารณาโทษของคณะกรรมการตรวจสอบถือเป็นที่สิ้นสุด และหากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย
           บริษัทฯ ห้ามมิให้พนักงาน หรือบุคคลใด กล่าวหา หรือแจ้งความเท็จอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย หากบริษัทฯพบว่า การแจ้งข้อร้องเรียน หรือการแจ้งเบาะแส หรือการให้ข้อมูลใด ๆ ที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริต เป็นเท็จ และจงใจให้เกิดความเสียหาย ผู้แจ้งความเท็จจะต้องถูกพิจารณาลงโทษทางวินัยตามที่กำหนดภายใต้ระเบียบบริหารงานบุคคลของบริษัทฯ
 
หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส 
           คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยได้กำกับดูแลให้การจัดทำและการเปิดเผยข้อมูล ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงิน และที่ไม่ใช่ทางการเงินอย่างเพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เกิดความมั่นใจและได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ตามข้อกำหนด กฎหมาย ข้อบังคับบริษัทฯ และหน่วยงานกำกับดูแล
 
หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท 
           คณะกรรมการบริษัท มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย และแผนงานที่สำคัญของบริษัทฯ โดยพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงและวางแนวการจัดการที่มีความเหมาะสม มีโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่า คณะกรรมการบริษัทได้บริหารงานและรับผิดชอบต่อของการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี
1. โครงสร้างคณะกรรมการ
               1.1 บริษัทฯ กำหนดองค์ประกอบโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทให้มีความหลากหลาย โดยกรรมการจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีภาวะผู้นำ มีคุณสมบัติในด้านทักษะและประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ  ด้านกฎหมาย   ด้านบัญชีการเงิน ด้านการบริหารความเสี่ยง ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงความสามารถเฉพาะด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศและอายุ โดยกรรมการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและภาพรวมขององค์กร ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น โดยมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน
              1.2  คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้บริษัทฯ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการไว้อย่างชัดเจน ดังรายละเอียดปรากฏในกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท
              1.3 กรรมการอิสระของบริษัทมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนตามแนวปฏิบัติที่ดีกำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการอิสระของบริษัทฯ ทุกคนล้วนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามนิยามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งกรรมการอิสระของบริษัทฯ เป็นกรรมการที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากความสัมพันธ์อื่นใดอันอาจมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระและเพียงพอที่จะสามารถสร้างกลไกเพื่อถ่วงดุลอำนาจภายในคณะกรรมการบริษัท ไม่ให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดมีอำนาจเหนือการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท และทำให้กรรมการทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ 
              1.4 ตามข้อบังคับของบริษัทฯ กำหนดไว้ว่า ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้งให้กรรมการออกจากตำแหน่งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีทุกครั้งให้กรรมการต้องออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสาม เป็นอัตราถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรก และปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้นให้คณะกรรมการพิจารณาตกลงกันเอง หากตกลงไม่ได้ให้จับสลากกันว่าผู้ใดจะออก ส่วนปีหลัง ๆ ต่อไปให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง กรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้
             1.5 คณะกรรมการบริษัทกำหนดอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งได้แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัท กับผู้บริหารโดยคณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้บริหารในระดับนโยบายขณะที่ผู้บริหารทำหน้าที่บริหารงานของบริษัทฯ ในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด
             1.6 บริษัทฯ กำหนดให้มีเลขานุการบริษัท เพื่อทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการจะต้องทราบและปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลกิจการของคณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ  
2. คณะกรรมการชุดย่อย
               2.1 คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวน  2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่องและเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาหรือรับทราบ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดมีสิทธิหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุด 
3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
               3.1 คณะกรรมการบริษัทมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางธุรกิจ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
               3.2 คณะกรรมการบริษัทติดตามดูแลจัดการบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทฯ  และมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังและรอบคอบ และซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และ        เป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้อง เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น 
              3.3 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คณะกรรมการบริษัทจึงจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ เพื่อติดตามและดูแลการดำเนินงานของบริษัทฯ  โดยมอบหมายให้คณะกรรมการชุดย่อยไปดำเนินการจัดทำนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
              3.4 คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญในการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการ เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลกิจการและกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทต้องพิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวทางการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เป็นประจำปี
              3.5 คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญของการจัดให้มีจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) รวมถึงกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติและการติดตามการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของบริษัทฯ  และเพื่อให้บริษัทฯ มีการดำเนินการตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อเป็นแนวทางให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนประพฤติปฏิบัติหน้าที่และภารกิจที่พึงได้รับมอบหมายด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งการปฏิบัติต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม 
              3.6 คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อระบบควบคุมภายในระดับบริหาร และระดับปฏิบัติงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดภาระหน้าที่ อำนาจดำเนินการของผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน มีการแบ่งแยกหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดตามควบคุมและประเมินผล โดยบริษัทฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ในการสอบทานระบบการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่เหมาะสม และมีประสิทธิผล และบริษัทฯ ยังมีฝ่ายตรวจสอบภายในทำหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานหลักและกิจกรรมทางการเงินที่สำคัญของบริษัทฯ ได้ดำเนินตามแนวทางที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจสอบการปฏิบัติตาม กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับบริษัท (Compliance Control) และเพื่อให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน มีความเป็นอิสระสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดให้ฝ่ายตรวจสอบภายในรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการตรวจสอบด้วย
             3.7 คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ  และได้กำหนดแนวนโยบายและแนวทางการบริหารความเสี่ยง
            3.8 บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่าการตัดสินใจใด ๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณา ต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงความสัมพันธ์หรือการเกี่ยวโยงของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมพิจารณาตัดสิน รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในธุรกรรมนั้น ๆ คณะกรรมการตรวจสอบจะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งได้มีการพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ 
            3.9 บริษัทฯ กำหนดหลักการในการพิจารณารายการระหว่างกัน โดยคำนึงถึงความสมเหตุสมผลและผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ โดยรายการที่เกิดขึ้นเป็นปกติและต่อเนื่อง บริษัทฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทำรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไป และเป็นไปตามราคายุติธรรมตามที่คิดกับลูกค้าทั่วไปและสามารถตรวจสอบได้ โดยนำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้ความเห็นถึงความสมเหตุสมผลของรายการที่เกิดขึ้น
            3.10  คณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่สอบทานรายงานทางการเงิน โดยมีฝ่ายบัญชีเข้าร่วมประชุม และนำเสนอรายงานทางการเงินต่อคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส โดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบต่องบการเงินรวมของบริษัทฯ รวมทั้งสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี เพื่อให้งบการเงินดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานการบัญชีรับรอง รวมถึงได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ การเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญทั้งข้อมูลทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการดำเนินการบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และสม่ำเสมอ
           3.11  คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจ และส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาการดำเนินงาน รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR)
           3.12  คณะกรรมการบริษัทติดตามดูแลฝ่ายจัดการจัดสรรและจัดการทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บนพื้นฐานของการมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยื
           4. การประชุมคณะกรรมการบริษัท
               4.1 คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมไว้อย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสาขาของบริษัท หรือจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการกำหนดวันประชุมไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี และกำหนดวาระหลักในการประชุมไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน และนำส่งเอกสารก่อนการประชุมล่วงหน้า เพื่อให้คณะกรรมการได้มีเวลาศึกษาข้อมูลเพียงพอก่อนการประชุม และอาจมีการประชุมครั้งพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน และมีการบันทึกรายงานการประชุมและจัดเก็บรวบรวมเอกสารรายงานที่รับรองแล้วเพื่อใช้ในการอ้างอิงและสามารถตรวจสอบได้ 
               4.2 ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวาระการประชุมและพิจารณาเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละคนสามารถเสนอเรื่องต่าง ๆ เพื่อเข้ารับการพิจารณาเป็นวาระการประชุมได้ 
              4.3 ประธานกรรมการบริษัทซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้จัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอและเปิดโอกาสให้กรรมการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ โดยในบางวาระอาจมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้รายละเอียดข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้รับทราบนโยบายโดยตรง เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ถือมติของเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียง โดยกรรมการที่มีส่วนได้เสียจะไม่เข้าร่วมประชุมและ/หรือไม่ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานในที่ประชุมจะออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
             4.4 บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารประกอบวาระการประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันเพื่อให้กรรมการบริษัทมีเวลาที่จะศึกษาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ อย่างเพียงพอ
             4.5 บริษัทฯ กำหนดจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำในการประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยในขณะที่กรรมการจะลงมติในที่ประชุม ต้องมีกรรมการอยู่ในน้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มาประชุมและไม่มีส่วนได้เสียในวาระนั้น ๆ 
             4.6 เลขานุการบริษัทเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง โดยทำหน้าที่ในการจดบันทึก จัดทำรายงานการประชุม เสนอให้ที่ประชุมรับรองในการประชุมครั้งถัดไป และเสนอให้ประธานกรรมการบริษัทพิจารณาลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารเกี่ยวกับการประชุมต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการสืบค้นอ้างอิง
5. การสรรหาและกระบวนการแต่งตั้งกรรมการใหม่
          คณะกรรมการบริษัทมุ่งเน้นให้การสรรหาและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการมีความโปร่งใสและสอดคล้องกับ  กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
              5.1 มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการบริษัทจากผู้ถือหุ้น ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกำหนด
              5.2 สามารถอุทิศตนให้บริษัทได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการตัดสินใจที่มีความสำคัญ และในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการและประชุมผู้ถือหุ้นได้ทุกครั้ง ยกเว้นกรณีที่จำเป็นหรือมีเหตุสุดวิสัย
              5.3 เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และคุณสมบัติอื่นใดที่อาจจะมีการกำหนดเพิ่มเติมตามกฎหมายหรือความเหมาะสมของคณะกรรมการ
6. การสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
         คณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งกำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ในระดับที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงานของบริษัท และสอดคล้องกับธุรกิจ / อุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงความเหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ และผู้บริหารแต่ละท่าน โดยค่าตอบแทนกรรมการจะอยู่ในรูปของเบี้ยประชุมและค่าบำเหน็จกรรมการ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทจะนำเสนอค่าตอบแทนกรรมการทุกรูปแบบให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี
         7. การปฐมนิเทศกรรมการใหม่
             คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ทุกคนก่อนทำหน้าที่กรรมการ เพื่อให้กรรมการใหม่รับทราบความคาดหวังที่บริษัทฯ มีต่อบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ  ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจและการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของบริษัทฯ  เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ
         8. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
             8.1  บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ และผู้บริหาร เป็นต้น เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
             8.2 กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือกรรมการใหม่ ฝ่ายจัดการจะจัดให้มีเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ รวมถึงการจัดให้มีการแนะนำลักษณะธุรกิจ และแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้แก่กรรมการใหม่
            8.3 คณะกรรมการกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีการจัดทำแผนพัฒนาและสืบทอดตำแหน่งทางธุรกิจ ในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
          9. การติดต่อสื่อสารกับฝ่ายบริหาร
              คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัท โดยเป็น ผู้นำเสนอรายละเอียดที่เกี่ยวกับวาระที่ตนรับผิดชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบข้อมูลความคิดเห็นจากผู้บริหารที่รับผิดชอบงานโดยตรง ขณะเดียวกันผู้บริหารก็มีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจมุมมองของคณะกรรมการบริษัท
             คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้มีการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในโอกาสอื่น ๆ นอกเหนือ จากการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้กรรมการได้มีโอกาสทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยกรรมการสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารของบริษัท แต่ละคนได้โดยตรง โดยไม่เป็นการสอดแทรกการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้คณะกรรมการได้จัดให้มีระบบแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการที่ชัดเจน
         10. เลขานุการบริษัท
               คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีเลขานุการบริษัท เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ดังนี้
1. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทจะเป็นกรรมการด้วยหรือไม่ก็ได้
2. รับผิดชอบดูแลการจัดประชุมผู้ถือหุ้น และประชุมคณะกรรมการบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับของบริษัท และข้อพึงปฏิบัติต่าง ๆ 
3. บันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งติดตามให้มีการปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท
4. ให้คำแนะนำและสนับสนุนงานของคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. ดูแลให้มีการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งติดตามให้นโยบายและข้อแนะนำของคณะกรรมการบริษัท มีผลในทางปฏิบัติ
6. รับผิดชอบในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ 
7. ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่กำกับดูแล และดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลและรายงานสารสนเทศต่อสาธารณชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องตามระเบียบและข้อกำหนดให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม

          นโยบายกำกับดูแลกิจการฉบับนี้ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท  ครั้งที่ 4/2561 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
         

 
                
          .............-นางนลินี งามเศรษฐมาศ-...........
 
          (นางนลินี งามเศรษฐมาศ)
          ประธานกรรมการบริษัท
          บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)